โรคภูมิแพ้อากาศ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) คือ การอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หญ้า แมลงสาบ รังแคสัตว์ ควันบุหรี่ และจมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น
ซึ่งมักจะทำให้ผู้ป่วยจาม คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล และเจ็บคอ ชอบขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ เลือดกำเดาไหลบ่อย และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู หูอื้อได้ ผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเวลาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ
โรคแพ้อากาศเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในคนไทย อุบัติการณ์ประมาณ ร้อยละ 20-40 ของประชากร
โรคภูมิแพ้อากาศแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ภูมิแพ้อากาศที่เป็นเฉพาะฤดูกาล (Seasonal Allergic Rhinitis) เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอาการเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี โดยเฉพาะ หรือเป็นเพียงบางฤดูกาล สารก่อภูมิแพ้มักเป็นพวกละอองเกสรของดอกไม้ หญ้า ต้นไม้ หรือสปอร์ของเชื้อรา
- ภูมิแพ้อากาศที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial Allergic Rhinitis) เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ซึ่งมีอาการได้ตลอดปี สารก่อภูมิแพ้มักจะมาจากสภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ รังแคสัตว์ เชื้อรา แมลงสาบ หรือ แมลงต่าง ๆ เป็นต้น
สาเหตุของโรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
สาเหตุของโรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีสาเหตุใหญ่ ๆ 2 ประการคือ
กรรมพันธุ์ พบว่า ถ้าคุณพ่อและคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 50-70% รวมทั้งวัยเด็กเสี่ยงต่อภูมิแพ้อากาศสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และเด็กผู้ชายเสี่ยงต่อโรคนี้สูงกว่าเด็กผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยที่เริ่มเป็นโรคนี้ คือ 8-11 ปี
สภาพแวดล้อม ถ้าอาศัยอยู่ในที่มีสารก่อภูมิแพ้สูง มีโอกาสเป็นได้มากกว่า ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นหรือทำให้อาการของโรคดังกล่าวแย่ลง ได้แก่ ควันบุหรี่ สารเคมี หรือมลพิษในอากาศ อากาศเย็น ความชื้น หรือลม สเปรย์แต่งผม หรือน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน
อาการของโรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
อาจเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งของวัน หรือช่วงที่ไปรับสารที่แพ้ อาการ เช่น :
- จามบ่อย น้ำมูกใส ไอ หรือเจ็บคอ
- คันจมูก คันคอ หรือบริเวณอื่น ๆ
- คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ ไม่รับรู้กลิ่น
- ปวดหัว นอนกรน หายใจมีกลิ่นปาก
- ปวดหู หูอื้อ
- น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม หรือขอบตาคล้ำ
- อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดง่าย
- ผิวหนังแห้งและคันคล้ายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ หรือเป็นลมพิษ
ดูแลตัวเองยังไงเมื่อเป็น “ภูมิแพ้อากาศ”
การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศเป็นการป้องกันภูมิแพ้อากาศที่ดีที่สุด ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศควรดูตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์, พัดลม, เครื่องปรับอากาศ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วถูด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือที่ปัดฝุ่น เพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายมากขึ้น ถ้าจำเป็นต้องทำความสะอาดเอง ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะทำความสะอาดด้วย นอกจากนั้นควรล้างแผ่นกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศทุก 2 สัปดาห์
- ควรใช้เตียงที่ไม่มีขา ขอบเตียงควรแนบชิดกับพื้นห้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นขังอยู่ใต้เตียง
- ควรนำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง มาตากแดดจัดๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที แสงแดดจะฆ่าตัวไรฝุ่นให้ลดจำนวนลงได้
- ควรซักทำความสะอาด ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ถ้าสามารถซักในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้งได้ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นที่อาศัยอยู่ได้
- ควรใช้หมอน หมอนข้าง ที่นอน ที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ ไม่ควรใช้ชนิดที่มีนุ่น, ขนเป็ด, ขนไก่ หรือขนนก อยู่ภายใน ผ้าห่มควรเลือกชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือผ้าแพร หลีกเลี่ยงชนิดที่ทำด้วยขนสัตว์ ผ้าฝ้าย หรือผ้าสำลี
- ควรจัดห้องนอนให้โล่ง และมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด และไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้อง พื้นควรเป็นไม้หรือกระเบื้องยาง ไม่ควรใช้พรมหรือผ้าเช็ดเท้าหน้าเตียง ไม่ควรมีกองหนังสือ หรือ กระดาษเก่าๆ ควรเก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด ไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้า ควรทำพลาสติกหุ้มหรือใช้ชนิดที่เป็นหนังแท้ หรือหนังเทียม หรือเป็นไม้ ไม่ควรมีของเล่นสำหรับเด็กที่มีนุ่น หรือเศษผ้าอยู่ภายใน หรือ ของเล่นที่เป็นขนปุกปุย หรือทำด้วยขนสัตว์จริง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นที่กักเก็บฝุ่นได้ ไม่ควรใช้ผ้าม่าน ควรใช้มูลี่แทนเพราะทำความสะอาดได้ง่ายกว่า
- กำจัดแมลงสาบ มด แมลงวัน ยุง และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ควรให้ผู้อื่นกำจัด และทำในเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่บ้าน ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หนู กระต่าย เป็ด หรือไก่ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ และไม่ควรนำสัตว์ดังกล่าวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้อยู่นอกบ้าน หรือถ้าจำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน อย่างน้อยไม่ควรให้สัตว์นั้นอยู่ในห้องนอน สัตว์ที่ผู้ป่วยสามารถเลี้ยงได้ โดยปลอดภัยคือ ปลา
- เชื้อราในอากาศก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ควรพยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบเกิดขึ้นในบ้าน โดยพยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง ตู้เสื้อผ้าควรให้มีอากาศถ่ายเทพอสมควร อย่าให้มีน้ำท่วมขังอยู่นานๆ โดยเฉพาะหลังฝนตกหนักๆ ตรวจและทำความสะอาดห้องน้ำ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศบ่อยๆ พยายามกำจัดแหล่งเพาะเชื้อรา เช่น ใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น เศษหญ้าที่ชื้นแฉะในสนาม ไม่ควรนำพืชที่ใส่กระถางปลูกมาไว้ภายในบ้าน เพราะดินในกระถางอาจเป็นที่เพาะเชื้อราได้
- ละอองเกสรดอกไม้ หรือของหญ้าและวัชพืช อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรให้ผู้อื่นตัดหญ้า และวัชพืชในสนามบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนละอองเกสรของมัน และไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน ในช่วงที่มีละอองเกสรมากควรปิดประตูหน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ และทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น
- ควรดูดฝุ่นในรถยนต์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ผ้าเป็นวัสดุคลุมเบาะรองนั่ง หมั่นตรวจและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ได้ เวลาเดินทางควรใช้เครื่องปรับอากาศเสมอ และไม่ควรเปิดหน้าต่าง
การกระทำดังกล่าวข้างต้นจะสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้อย่างมาก นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น, ควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสียรถยนต์, มลพิษจากโรงงาน, ควันธูป, กลิ่นฉุนหรือแรง เช่น กลิ่นสีหรือน้ำหอม กลิ่นจากน้ำยาหรือสารเคมีต่างๆ อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป การเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าโดยตรง การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว ถ้าต้องการเปิดแอร์นอน ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ถ้าใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ควรนอนห่มผ้า, ใช้ผ้าพันคอ หรือใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้นเข้านอน นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการอดนอน การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ผู้ป่วยควรสังเกตว่าสารใด หรือภาวะแวดล้อมอะไร หรือการปฏิบัติอย่างไร ที่ทำให้อาการของโรคมากขึ้น ควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคภูมิแพ้แท้ที่จริงแล้วเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของผู้ป่วยให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการนั่นเอง
ออกกำลังกาย ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้มากมาย รวมถึง “โรคภูมิแพ้” เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้อาการภูมิแพ้อากาศค่อยๆ หายไป
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับพักผ่อน คือการที่ร่างกายได้ชาร์จแบตหลังถูกใช้งานมาตลอดทั้งวัน
ทานอาหารดีมีประโยชน์ แน่นอนว่าหลักในการดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้อง “อาหาร” ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญ การทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน ผัก และผลไม้ จึงเป็นเหมือนอาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้
การรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
ปัจจุบันจะมีวิธีการรักษา 3 ลักษณะคือ
- การกำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
- การรักษาด้วยยากินและยาพ่นจมูก
- การฉีดวัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้
สำหรับระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าสามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้มากน้อยแค่ไหน หากจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ซึ่งสามารถช่วยลดอาการได้ โดยส่วนมากใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้เวลา 3-5 ปีแล้วแต่บุคคล โรคแพ้อากาศสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก ขึ้นอยู่กับการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย
Credit : rcot.org, pobpad.com, siriraj
กรีนมูลอน Green Mulon สมุนไพรเสริมอาหารสกัดจากชาเขียว ขมิ้นชัน และวิตามินต่างๆ ดูแลอาการภูมิแพ้ ช่วยลดการหลั่งสาร Immunoglobulin ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภูมิแพ้ เสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้น และยังช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามินที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้