โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็น ๆ หาย ๆ พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน มักเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนเช้ามืด คนในครอบครัวผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหารหรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรคและสารเคมีที่ระคายผิวหนัง ทั้งนี้เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วยโดยไม่เกิดอาการก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นจุดอ่อน หรือผิดปกติที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดามารดาไม่เหมือนกัน ความบกพร่องที่ได้มาจากบิดามารดานี้จะมีความแตกต่างกัน มีความผิดปกติมากบ้างหรือน้อยบ้างไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มีอาการและอาการแสดงปรากฎออกมาไม่เหมือนกัน และมีความรุนแรงแตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่เป็นน้อย ๆ เป็นตลอดเวลา เป็น ๆ หาย ๆ เป็นตั้งแต่เด็ก ๆ เริ่มมีอาการเมื่อเข้าช่วงวัยรุ่น บางรายมีอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลยก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
ลักษณะอาการสำคัญที่พบในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ คือ
- ผิวหนังมีน้ำมันในชั้นหนังกำพร้า (Stratum corneum) น้อยกว่าคนปกติทั่วๆไป
- มีอาการคันที่ผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ และมักเป็นมากตอนกลางคืน
- เกิดผื่นแดงที่ผิวหนังง่าย ผื่นแดงคันตามข้อพับ เช่น ศอก เข่า ต้นคอ ข้อพับแขน ข้อพับขา รักแร้ ขาหนีบ ร่องก้น ผื่นหรือตุ่มคันตามแขน ขา 2 ข้าง แต่บางรายก็เป็นข้างเดียว
- ตุ่มนูนบริเวณรูขุมขนส่วนแขน ขา
- ผื่นแดงลอกเป็นสะเก็ดที่นิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ หรือ ฝ่าเท้า
- ริมฝีปากแดง แห้งลอกเป็นขุย เป็น ๆหาย ๆ
- หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ
- คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก
- ยิ่งเกา ยิ่งคัน
อาการคัน เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิดจากการเกาหรือแกะผิวหนังอย่างมาก ทำให้อาการผิวหนังอักเสบกำเริบมากขึ้น มีน้ำเหลืองออกมาที่ผิวหนัง ยิ่งทำให้อาการคันกระจายไปทั่วตัวที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเหลืองเสีย”
ในเด็กมักพบบริเวณใบหน้าและศีรษะ เด็กบางคนเมื่ออายุมากขึ้นอาการจะดีขึ้น เหลือเพียงผิวแห้ง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบว่าแพ้แมลง ยุง มด จะทำให้มีอาการคันและเป็นผื่นได้ง่าย มีอาการนานกว่าคนทั่วไป และนอกจากนี้อาจมีอาการแพ้จากการที่ผิวหนังสัมผัสกับสารบางชนิดได้ง่าย เช่น แพ้ครีมกันแดด ยาย้อมผม โลหะ เป็นต้น
โดยอาการอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจมีร่วมด้วยได้แก่ อาการน้ำมูกไหล ไอ จามเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการหอบหืดร่วมด้วย
การป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
- ทำความสะอาดร่างกายและล้างมืออยู่เสมอ
- ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่มีน้ำหอม ไม่มีสารกันเสีย และอ่อนโยนต่อผิว
- ทาโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น ไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นหรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เหงื่อออกมาก
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดมาก เนื้อหยาบหนา หรือผ้าขนสัตว์ ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง แมลง และยุงชุกชุม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
อะไรบ้างที่ทำให้ผื่นนี้กำเริบมากขึ้น
- สภาวะแวดล้อม เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
- เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
- ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและเป็นผื่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศที่ร้อนทำให้เหงื่อออกมาก เกิดอาการคันและเกิดผื่นเช่นเดียวกับในฤดูหนาว
- เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติม
- สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนังทำให้เกิดอาการคัน และเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
- อาหาร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 10% พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
- จิตใจที่วิตกกังวล ความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการทางผิวหนัง ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย และการตรวจ Patch Test เพื่อตรวจหาชนิดของสารเคมีหรือโลหะที่แพ้ โดยนำสารต่าง ๆ ที่คาดว่าจะแพ้ใส่ลงใน Finn Chamber แปะไว้ที่หลัง 3 วัน แล้วเปิดดูปฏิกิริยาของคนไข้กับสารเคมีหรือโลหะเหล่านั้น
การวินิจฉัยโรคนอกจากจะอาศัยประวัติอาการและอาการแสดงดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งยังต้องอาศัยการถามประวัติในครอบครัวผู้ป่วยซึ่งมักพบว่า พี่น้อง บิดามารดา น้า อา ลุง ปู่ ย่า ตา หรือยายมีอาการโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งร่วมอยู่ด้วย
เมื่อวินิจฉัยโรคได้แล้วแพทย์จะประเมินความรุนแรงของโรคแล้วจึงให้การดูแลรักษาตามลำดับดังนี้
อธิบายเรื่องโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ให้ผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ทราบว่า จุดอ่อนหรือความบกพร่องของผิวหนังเป็นลักษณะทางพันธุกรรมจะอยู่กับผู้ป่วยตลอดไป แต่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้โดยการให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นทาโลชั่นบำรุงผิวหนังอยู่เสมอ ๆ ตามสภาพอากาศ ไม่อาบน้ำอุ่นนาน ๆ เพราะน้ำอุ่นจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป แพทย์สามารถควบคุมโรคได้ในช่วงที่ผิวหนังอักเสบ แต่การดูแลอาการต่าง ๆ ของโรคในระยะยาวต้องอาศัยผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิดช่วยควบคุมและดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้โรคสงบหรือหายไปได้ในระยะยาว
แพทย์จะควบคุมอาการคันด้วย ยาแก้คัน ยาต้านฮีสตามีน (Anti-histamine) ต้องรับประทานยานี้ติดต่อกัน จนไม่มีอาการคันติดต่อกัน 7 วันจึงหยุดยาแก้คันได้ อาการคันอาจไม่หายไปหมดจากการรับประทานยา ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบหรือใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นชโลมผิวหนังจะช่วยลดอาการคันได้
ผิวหนังที่อักเสบแดงหรือเป็นขุยลอกให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ความแรงระดับกลาง เช่น Triamcinolone acetonide 0.1% cream, Betamethasone 17-valerate cream ทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 7-14 วัน ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเป็นมากกระจายทั่วตัวหรือการอักเสบเป็นรุนแรงจนมีน้ำเหลืองออกมาอยู่บนผื่นผิวหนัง ในกรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้ยารับประทานสเตียรอยด์และใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % เช็ดน้ำเหลือง อย่าปล่อยให้น้ำเหลืองเยิ้มอยู่ที่ผิวหนัง เพราะจะทำให้เกิดอาการคันและตุ่มแดงกระจายทั่วตัวที่เรียกว่า “น้ำเหลืองเสีย”
Credit : bangkokhospital, phyathai.com, siriraj online
กรีนมูลอน Green Mulon ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหาร สมุนไพรสารสกัดจากชาเขียว และสารสกัดเคอร์คูมินอยด์ ดูแลอาการภูมิแพ้ ช่วยลดการหลั่งสาร Immunoglobulin ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภูมิแพ้ เสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ และยังช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามินที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้